การศึกษาประวัติศาสตร์
ในแนวที่กว้างจะช่วยให้เราเข้าใจว่าจริงๆแล้ว ปัญหาการพัฒนาประเทศเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากกระบวนการพัฒนาที่ไม่สม่ำเสมอไม่เท่าเทียมกันในสังคมต่างๆนั่นเอง เพราะสังคมบางแห่งได้พัฒนาทางด้านเศรษฐกิจเทคโนโลยีการเมืองและสังคมไปมากกว่าสังคมอื่นๆ ทำให้เกิดช่องว่างเกิดความขัดแย้ง และอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมโลกให้ก้าวไปด้วยกัน ดังนั้นทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่ถูกจัดว่าด้อยพัฒนา ต่างจึงต้องการให้สังคมที่ยังพัฒนาช้า ได้พัฒนาเร็วขึ้น คำว่า พัฒนาในที่นี้จึงมีนัยหมายถึงการพัฒนาแบบทุนนิยม ซึ่งเป็นวิถีการผลิตที่ก้าวหน้ากว่าเดิม
ในห้วงกาลเวลาที่ผ่านมา เมื่อกล่าวถึงเรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์ก็เช่นกัน บทเรียนต่างๆที่เราเรียนกันนั้นล้วนแล้วแต่ทำให้เราเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างกันและกันเสมอ ในแต่ละหน้าประวัติศาสตร์ไม่เคยมีเลยที่จะกล่าว ถึงการดำรงอยู่อย่างเดียวดายของมนุษย์โดยปราศจากการติดต่อกับผู้อื่น จากการรับรู้ของเราไม่ว่าจากสิ่งที่เรามองเห็นด้วยตา สิ่งที่เราได้ยิน ด้วยหู ทั้งความกว้างใหญ่ไพศาลของภูมิประเทศที่เราเห็นจนชินตา วิถีชีวิต วิวัฒนาการ ความภาคภูมิใจที่เรามีต่อชาติพันธุ์ และประเทศของเราก็ไม่สามารถลบทิ้งเอาความเป็นจริงที่ว่าโลกนั้นกว้างใหญ่กว่าที่เราเห็น และก็มีผู้คนมากมายที่แตกต่างจากเราอาศัยอยู่
การศึกษาถึงประวัติของพัฒนาการของระบบทุนนิยมโลก
ลัทธิล่าเมืองขึ้นและลัทธิอาณานิคมแผนใหม่จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจปัญหาการพัฒนาประเทศได้อย่างถ่องแท้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น ขณะเดียวกันเราก็ต้องศึกษาถึงปัจจัยภายในสังคมไทยเอง โดยเฉพาะการคลี่คลายขยายตัวของระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบศักดินาและวัฒนาดั้งเดิมซึ่งมีผลกระทบต่อการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอย่างที่เป็นอยู่ด้วยเช่นกัน
เราจะเข้าใจว่าทำไมคนไทยไม่มีนิสัยในการค้า ไม่มีนิสัยในการอดออมเพื่อลงทุนขยายกิจการให้ดีขึ้น ก็ต่อเมื่อเราได้ศึกษาว่าคนไทยต้องถูกเกณฑ์แรงงานไพร่ คนจีนอพยพเข้ามาทำงานเป็นพ่อค้าเรือสำเภาและแรงงานรับจ้าง โดยไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานไพร่อย่างไร รวมทั้งศึกษาถึงวัฒนธรรม ศักดินาที่ยกย่องขุนนาง ดูถูกพ่อค้าและช่างฝีมือตลอดจนปัจจัยอื่นๆในอดีตที่มีผลต่อการหล่อหลอมพื้นเพทางวัฒนธรรมของคนไทยในปัจจุบัน